ไม่ว่าจะในฐานะแบรนด์หรือครีเอเตอร์ แต่ละคนก็มักจะมีสไตล์หรือแนวทางของตัวเอง แต่บางคนก็อาจจะทำตามใจของตัวเองมากเกินไปจนไม่ทันคิดว่าบางสิ่งส่งผลต่อภาพรวมในการทำคอนเทนต์เต็ม ๆ! ซึ่งสิ่งต่างๆ ที่จะมาบอกในวันนี้ค่อนข้างเป็นสิ่งพื้นฐานที่ควรมีในการทำคอนเทนต์ ที่เรียกว่าทั้งแบรนด์และครีเอเตอร์ควรรู้ไว้
1. ไม่รู้จักกลุ่มเป้าหมายของตัวเอง
ข้อนี้เป็นข้อสำคัญอันดับแรก ๆ เนื่องจากการทำคอนเทนต์ก็ควรจะทำเพื่อตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายของตัวเอง ยิ่งในยุคที่การสื่อสารเปลี่ยนไป ผู้ผลิตสื่อมีจำนวนมากขึ้น ผู้บริโภคก็ยิ่งมีทางเลือกในการเสพสื่อมากขึ้นตามไปด้วย เพราะฉะนั้นหากเรายังไม่เข้าใจกลุ่มเป้าหมายของตัวเอง เราจะทำคอนเทนต์ให้ตอบโจทย์คนเหล่านั้นได้อย่างไร แต่หากเรารู้จักกลุ่มเป้าหมายเราดีพอ ก็จะทำให้เราสามารถผลิตคอนเทนต์ในเรื่องที่กลุ่มเป้าหมายสนใจ ก็จะยิ่งช่วยให้เราเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น แถมยังได้กระชับความสัมพันธ์และสร้าง engagement เพิ่มกับผู้ติดตามเดิมได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
2. ไม่ตรวจสอบความถูกต้องเหมาะสมก่อนโพสต์ความถูกต้องของข้อมูล
หลายคนไม่ได้หาข้อมูลอย่างละเอียด หรือไม่ตรวจสอบข้อมูลให้แน่ชัด จึงอาจส่งผลให้เกิดความผิดพลาดของข้อมูลขึ้นได้
ความถูกต้องของภาษา
ความถูกต้องของภาษาก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญในการทำคอนเทนต์ เนื่องจากภาษาเป็นสื่อกลางในการสื่อสารนั่นเอง หากผู้บริโภคเห็นคอนเทนต์เราแล้วเจอคำผิด คงอาจจะขัดใจไม่น้อย รวมถึงอาจจะมีความคิดไปถึงขั้นที่ว่าทำไมเราไม่มีความเป็นมืออาชีพในการทำคอนเทนต์เลยก็ได้
ความเหมาะสมขององค์ประกอบต่าง ๆ ในคอนเทนต์บนแต่ละแพลตฟอร์ม
การจัดวางเลย์เอาต์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบตัวอักษร องค์ประกอบในภาพ หรือวิดีโอ ก็ส่งผลต่อความน่าสนใจของคอนเทนต์ทั้งนั้น ที่สำคัญควรตรวจสอบความเหมาะสมของคุณภาพทั้งภาพและเสียงให้เรียบร้อย ว่าดีหรือถูกต้องตามรูปแบบของแพลตฟอร์มหรือไม่ เพื่อกันไม่ให้เกิดอุปสรรคต่อการรับชม
3. ไม่มีคีย์เวิร์ดที่ดีหรือละเลยการทำ SEO
การที่ทำคอนเทนต์โดยไม่ใส่คีย์เวิร์ดต่าง ๆ หรือละเลยการทำ SEO จะส่งผลอย่างมากในการที่ทำให้คนหาคอนเทนต์ของเราไม่เจอ เพราะฉะนั้นเราควรให้ความใส่ใจกับคำ หรือคีย์เวิร์ดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นชื่อบทความ หัวข้อย่อย รวมไปถึงแฮชแท็กต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญคือควรเป็นคำที่เกี่ยวข้องกับคอนเทนต์ บริบทโดยรอบที่เกี่ยวข้อง หรือคำที่คิดว่าคนน่าจะค้นหาถ้าอยากดูสิ่งนี้ เป็นต้น
4. ไม่มีการอ้างอิงที่มาแหล่งข้อมูล
การอ้างอิงแหล่งที่มาข้อมูลจะทำให้คอนเทนต์ของเราน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น และยังเป็นตัวบ่งบอกว่าเราได้หาข้อมูลมาแล้วจริงๆ ซึ่งจะทำให้สะดวกต่อผู้บริโภคที่สามารถกดลิงก์ไปยังแหล่งที่มาของข้อมูลเพื่อศึกษาหรือตรวจสอบเพิ่มเติมได้อีกด้วย ลองนึกดูว่าถ้าเราบอกข้อมูลไปลอย ๆ โดยที่ไม่มีแหล่งข้อมูลมาสนับสนุน ในหัวของเราจะเกิดคำถามขึ้นมามากมายแค่ไหน? ที่แน่ ๆ ก็คงไม่ปักใจเชื่อข้อมูลในคอนเทนต์นั้นแล้วใช่มั้ยล่ะคะ เพราะไม่มีหลักฐานยืนยัน
5. ไม่มี Call-to-action
อีกข้อสำคัญที่หลายหลงลืม คือการใส่ Call-to-action เพื่อให้ผู้ติดตามสามารถติดตามเราได้ในหลากหลายช่องทาง วิธีการนี้เป็นการย้ำให้ผู้บริโภคเห็นช่องทางอื่น ๆ ของเรา และเพิ่มจำนวนการเข้าถึงในช่องทางอื่น ๆ ได้อีกด้วย และสำคัญมาก ๆ สำหรับแบรนด์ เนื่องจากเราสามารถใช้ Call-to-action เพื่อเชื่อมโยงไปยังหน้าร้านค้า การซื้อ หรือการจ่าย ด้วยวิธีการที่สะดวกและเชื่อมถึงกันเช่นนี้ จะยิ่งส่งผลต่อการช่วยกระตุ้นการซื้อของผู้บริโภคได้มากเลยทีเดียว
6. ไม่มี engagement กับผู้ติดตาม
ในการทำคอนเทนต์เองใช่ว่าเราจะต้องรับบทผู้ส่งสารที่มีหน้าที่ส่งสารแต่เพียงอย่างเดียว แต่ควรมีการตอบโต้ พูดคุย หรือหากิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างผู้ติดตาม เพื่อเพิ่มยอด engagement ให้มากขึ้น ถ้าเป็นแบรนด์ยิ่งควรใส่ใจในจุดนี้ โดยเฉพาะกับ User-generated Content (UGC) หรือคอนเทนต์ที่ผู้บริโภคผลิตให้แบรนด์โดยไม่ได้รับการว่าจ้าง เนื่องจากเป็นคอนเทนต์ที่ผู้ติดตามแบรนด์สร้างให้ด้วยความเต็มใจ และแบรนด์เองก็สามารถใช้ประโยชน์ได้จากตรงนี้ ในส่วนของการแชร์โพสต์ UGC เพื่อช่วยส่งเสริมให้แบรนด์มีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น และยังนับเป็นอีกหนึ่งวิธีในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแบรนด์และผู้บริโภคอีกด้วย
7. ไม่มีคอนเทนต์ Evergreen
Evergreen Content หรือคอนเทนต์ที่สามารถกลับมาอ่านเมื่อไหร่ก็ไม่เก่านั่นเอง บางครั้งการทำคอนเทนต์ one-and-done แบบโพสต์ครั้งเดียวจบ อาจไม่ใช่ไอเดียที่ดีเสมอไป เพราะ Evergreen Content สามารถนำมาโพสต์อีกครั้งตอนไหนก็ได้ อ่านเมื่อไหร่ก็ยังไม่เก่า นอกจากจะเป็นการประหยัดเวลาในการผลิตคอนเทนต์แล้ว ยังเป็นคอนเทนต์ที่ช่วยเรียกให้คนมาดูได้เรื่อย ๆ อีกด้วย
8. จำนวนการโพสต์ไม่เหมาะสม
โพสต์น้อยเกินไป
หากโพสต์ไม่บ่อย จะทำให้ผู้ติดตามลืมและทิ้งเราไปได้ในที่สุด แน่นอนว่าจำนวนโพสต์ที่ดีไม่สามารถระบุเป็นจำนวนที่แน่นอนได้ เพราะแนวทางของแต่ละแพลตฟอร์มและแต่ละเพจก็แตกต่างกันไป แต่อย่างน้อยไม่ควรจะโพสต์แค่ 1 โพสต์ต่อวัน ทั้งนี้ก็ต้องดูข้อมูลหลังบ้านประกอบในการวางแผนตารางคอนเทนต์
โพสต์ถี่เกินไป
นอกจากการโพสต์น้อยเกินไปจะเป็นปัญหาแล้ว การโพสต์ถี่เกินไปก็สร้างปัญหาได้เช่นกัน ซึ่งคำว่าถี่ในที่นี้ก็ไม่สามารถระบุเป็นจำนวนได้แน่ชัดอยู่ดีตามที่ได้กล่าวไป แต่ลองนึกดูว่าหากเราโพสต์คอนเทนต์ถี่มากๆ ผู้ติดตามก็อาจจะไม่ทันได้โฟกัสคอนเทนต์ได้ดีเท่าที่ควร ในกรณีที่แย่ที่สุดคืออาจสร้างความรำคาญให้กับผู้ติดตามบางคนได้อีกด้วย
โพสต์แค่ช่วงตอนมีโปรโมชัน หรือตอนขายของ
การโพสต์แค่ตอนที่มีโปรโมชันหรือตอนที่อยากขายของอย่างเดียว ไม่ได้ช่วยให้การโปรโมตดีขึ้นแม้แต่น้อย เพราะการที่จะทำให้คนสนใจ ก็ควรจะมีการวางแผนที่ดี โพสต์คอนเทนต์อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ผู้ติดตามเห็นข่าวสารจากเราอยู่เรื่อยๆ หากมาแค่ตอนขายของ ในช่วงธรรมดาที่ไม่ได้ขายหรือมีโปรโมชัน ผู้ติดตามก็คงจะหนีหายไปไม่น้อย เนื่องจากไม่ได้มีคอนเทนต์ให้เสพนั่นเอง
9. โปรโมทแค่ช่องทางเดียว
กาารใช้ช่องทางใดช่องทางหนึ่งเป็นช่องทางหลักในการโปรโมตไม่ใช่เรื่องไม่ดี แต่การขยับขยายไปในหลากหลายช่องทางจะทำให้เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ซึ่งนับเป็นข้อดีในการทำคอนเทนต์นั่นเอง นอกจากนี้การผลิตคอนเทนต์บนหลากหลายคอนเทนต์จะทำให้เรารู้จักแต่ละแพลตฟอร์มมากขึ้น และอาจทำให้มีความได้เปรียบในการทำคอนเทนต์ที่หลากหลายมากขึ้นอีกด้วย
10. ไม่เช็กฟีดแบคหรือข้อมูลหลังบ้าน
ลายคนคิดว่าเมื่อทำคอนเทนต์เสร็จแล้วจบเลย แต่จริงๆ แล้วควรต้องหมั่นเช็กฟีดแบคของกลุ่มเป้าหมายอยู่เสมอ เพื่อที่จะได้เข้าใจกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น และนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาแนวทางคอนเทนต์ให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย นอกจากฟีดแบคที่เห็นได้ทั่วไปแล้วยังควรวิเคราะห์ข้อมูลหลังบ้านประกอบ เพื่อที่จะได้รู้ว่าผลงานแต่ละชิ้นมีกระแสตอบรับอย่างไร เพื่อนำไปเป็นกรณีศึกษาในการทำคอนเทนต์ต่อไปในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นยอด engagement, reach หรือ impression เป็นต้น
และนี่ก็เป็น 10 ข้อผิดพลาดพื้นฐานที่มักเจอบ่อย ๆ ในการทำคอนเทนต์ หากทุกคนรู้ไว้ และนำไปปรับใช้กับแนวทางการทำคอนเทนต์ของตัวเอง ก็อาจช่วยทำให้การทำคอนเทนต์มีประสิทธิภาพมากขึ้น รู้อย่างนี้แล้วลองเก็บไปเช็กดูนะคะว่าเราเผลอทำข้อไหนไปบ้าง จะได้รีบแก้ไขทันค่ะ!
Rocket Skill
“ครบเครื่อง เรื่องระบบ รับจบเพื่อครีเอเตอร์”
Knowledge website ครีเอเตอร์ ทำคอนเทนต์